เวลาที่เพื่อนๆใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่ เพื่อนๆคงเคยคุ้นตากับคำว่า bit, byte, Kb, Mb หรือ Gb กันมาบ้างใช่รึปล่าว ใน ความจุของแฟรชไดร์ฟ ฮาร์ดดิส หรือขนาดของโปรแกรม เป็นต้น ซึ่งใช่แล้วล่ะครับคำเหล่านี้ก็คือ หน่วยนับข้อมูลของคอมพิวเตอร์ หรือเรียกอีกอย่างก็คือ หน่วยวัดความจำทางคอมพิวเตอร์ หรือภาษาชาวบ้านอย่างเราๆเรียกว่า สิ่งที่เอาไว้เรียกขนาดของข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเองครับ โดยแต่ละหน่วยนับนั้นจะมีความจุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวันนี้ itnews4u จะมาแนะนำให้เพื่อนๆได้รู้จักกับหน่วยนับข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่พบเจอบ่อยๆ โดยจะเริ่มจากหน่วยนับที่เล็กที่สุดไปถึงหน่วยนับขนาดใหญ่ ดังต่อไปนี้เลยครับ
ประเภทหน่วยนับข้อมูลในคอมพิวเตอร์
1. บิต (bit) คำศัพท์ตัวแรกที่จะแนะนำให้รู้จักก็คือคำว่า บิต โดยบิตเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในหน่วยนับข้อมูลที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้หลักการง่าย ๆ ด้วยเลขดิจิตอลเพียง 2 หลัก คือเลข 0 และ 1 นั่นเองครับ
2. ไบต์ (Byte) 1 ไบต์ จะประกอบด้วยจำนวนบิต 8 บิต
3. กิโลไบต์ (Kilobyte) ตัวย่อคือ KB โดยขนาด 1 กิโลไบต์ เท่ากับ 1024 ไบต์
ส่วนมากไฟล์ที่เรามักจะเห็นหน่วยนับข้อมูลในระดับนี้คือไฟล์ประเภท ไฟล์เอกสารตัวหนังสือต่างๆ เช่น Microsoft Word หรือ Notepad เป็นต้นครับ
4. เมกกะไบต์ (Megabyte) ตัวย่อคือ MB โดยขนาด 1 เมกกะไบต์ เท่ากับ 1024 กิโลไบต์
ส่วนมากไฟล์ที่เรามักจะเห็นหน่วยนับข้อมูลในระดับนี้คือไฟล์ประเภททั่วๆไปที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เช่น รูปภาพความละเอียดสูง ไปจนถึงโปรแกรมขนาดเล็กต่างๆ นั่นเอง
5. กิกะไบต์ (Gigabyte) ตัวย่อคือ GB โดยขนาด 1 กิกะไบต์ เท่ากับ 1024 เมกกะไบต์
ส่วนมากไฟล์ที่เรามักจะเห็นหน่วยนับข้อมูลในระดับนี้คือไฟล์ประเภท ไฟล์ภาพยนต์ความละเอียดระดับ HD 720P, Full HD 1080P หรือไฟล์เกมส์ออฟไลน์หรือออนไลน์ 3D รุ่นใหม่ๆ ที่ตัวเกมส์มีความละเอียดสูงนั่นเองครับ
6. เทราไบต์ (Terabyte) ตัวย่อคือ TB โดยขนาด 1 เทราไบต์ เท่ากับ 1024 กิกะไบต์
หน่วยความจำประเภทนี้นั้นมักจะพบในอุปกรณ์ฮาร์ดดิสรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์ดดิสเครื่อง PC หรือ Notebook ก็ตาม หรือที่พบทั่วไปก็คือความจุของพวก External Harddisk นั่นเองครับ
เพียงเท่านี้เพื่อนๆก็สามารถนำความรู้ที่ได้ไปบอกขนาดของไฟล์ต่างๆในคอมพิวเตอร์ หรือขนาดความจุของฮาร์ดแวร์เช่น ฮาร์ดดิส, SSD, แฟรชไดร์ฟ ได้อย่างถูกต้องเสมือนกับเป็นเซียนคอมพิวเตอร์ได้แล้วล่ะครับ